พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี หนึ่งในเบญจมหาบูชาสถาน อันมีความสำคัญสูงสุดของประเทศพม่า
0 Comments | Posted by admin in ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
พระมหามัยมุนี หรือ พระมหาเมี๊ยะมู่นี่ ที่มีความหมายว่า พระผู้เป็นที่เคารพสูงสุด หรือ ผู้รู้อันประเสริฐสุด หรือ มหาปราชญ์ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในห้าแห่ง ที่เป็นเบญจมหาบูชาสถาน อันมีความสำคัญสูงสุดของพม่า
ตามตำนานได้เล่าไว้ว่า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล หรือนับสองพันปีมาแล้ว พระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์ของชาวยะไข่แห่งเมืองธัญญวดี (ปัจจุบันอยู่ในรัฐยะไข่ ทางด้านตะวันตกของพม่า ด้านติดกับบังคลาเทศ) ทรงสร้างพระมหามัยมุนี ขึ้นในปี พ.ศ.๖๘๙ องค์พระทำจากทองสัมฤทธิ์ สูง ๑๒ ฟุต ๗ นิ้ว ก่อนสร้าง พระองค์ได้สุบินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานพรให้พระพุทธปฏิมาองค์นี้ เป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่อเป็นเครื่องสืบพระศาสนาไปในภายหน้า แต่เนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่จึงต้องหล่อแยกเป็นชิ้นแล้วจึงนำมาประสานกันได้สนิทจนไม่เห็นรอยต่อเป็นที่น่าอัศจรรย์ เชื่อกันว่าเป็นด้วยพรของพระศาสดาประทานไว้
ความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหามุนีเลื่องลือไปไกล จึงเป็นที่หมายปองของกษัตริย์พม่า นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธาแห่งอาณาจักรพุกาม บุเรงนองมหาราชแห่งหงสาวดี และอลองพญามหาราชแห่งรัตนปุระอังวะ ล้วนเพียรพยายามยกทัพไปชะลอพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานเพื่อเป็นศิริมงคลแห่งดินแดนพม่าทุกยุคทุกสมัย แต่ต้องล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะความทุรกันดารของเส้นทางที่เต็มไปด้วยแม่น้ำและภูเขาสูงในอดีต แม้เมืองยะไข่จะถูกโจมตีโดยกษัตริย์ผู้ทรงแสนยานุภาพอย่างไร ก็ไม่อาจที่จะเคลื่อนย้ายองค์พระมหามัยมุนีนี้ออกจากเมืองได้ ต้องมีเหตุให้ขัดข้องทุกครั้งไป
จนกระทั่ง ในสมัยพระเจ้าปดุง จึงสามารถนำเอาพระมหามุนีมาไว้ที่กรุงมัณฑะเลย์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗ โดยล่องมาตามแม่น้ำอิระวดีมายังเมืองมัณฑเลย์ได้สำเร็จ พระมหามัยมุนีอันศักดิ์สิทธิ์ จึงได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองมัณฑเลย์เป็นการถาวรนับแต่นั้นเป็นต้นมา ในปัจจุบันชาวพม่ายังเรียกพระมหามุนีอีกชื่อหนึ่งว่า “พระยะไข่”
ด้วยความเชื่อว่า พระพุทธมหามัยมุนีนี้ มีชีวิต เพราะด้วยเหตุที่ได้รับ ลมหายใจจากพระพุทธองค์ จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการล้างพระพักตร์ให้องค์พระทุกๆรุ่งสาง ดั่งมนุษย์ที่ต้องล้างหน้าแปรงฟันทุกเช้า โดยมีพระมหาเถระและสัปบุรุษ ช่วยทำหน้าที่ล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีทุกวัน ตั้งแต่ราวตีสี่ครึ่ง ล้างพระพักตร์ด้วยน้ำอบน้ำหอมผสมแป้งทานาคาอย่างดี พร้อมกับใช้แปรงทองแปรงที่พระโอษฐ์เสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า ก่อนใช้ผ้าจากศรัทธาสาธุชนถวาย เช็ดพระพักตร์ให้แห้งและขัดสีให้เนื้อทองสัมฤทธิ์ที่พระพัตร์นั้นสุกปลั่งเป็นเงางามอยู่เสมอ พร้อมใช้พัดทองโบกถวายเป็นอย่างดีเสมือนหนึ่งได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนมชีพ
ด้วยเหตุนี้ พระมหามัยมุนีจึงเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์อิ่มเอิบเป็นประกายวาว งามยิ่งนัก มีผู้มีจิตศรัทธานำทองคำมาถวายแก่พระมหามัยมุนี เป็นจำนวนมาก ขณะที่องค์พระก็มีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นรอยย่นตะปุ่มตะป่ำไปทั้งพระองค์ ซึ่งหากลองกดดู จบพบว่าองค์พระอ่อนนิ่มจากทองคำเปลวที่ปิดทับซ้อนกันนับเป็นหมื่นชั้นแสนชั้น ตลอดระยะเวลานานกว่าศตวรรษ ทำให้พระมหามัยมุนีมีอีกพระนามหนึ่งว่า “พระเนื้อนิ่ม” แต่น่าแปลกที่ว่า แม้จะมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนองค์พระใหญ่ขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่พระพักตร์ขององค์พระมหามัยมุนีก็เสมือนได้ปรับให้มีขนาดใหญ่ตามองค์พระอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งๆที่ไม่ได้มีการปิดทองที่พระพักตร์เลยแม้แต่น้อย
วัดมหามัยมุนีมีธรรมเนียมปฎิบัติเช่นเดียวกับปูชนียสถานทุกแห่งในพม่าคือไม่อนุญาตให้สตรีเข้าใกล้องค์พระได้เท่าบุรุษ ซึ่งสามารถขึ้นไปปิดทองที่องค์พระได้ โดยทางวัดกำหนดให้เขตสตรีกราบสักการะองค์พระได้ระยะใกล้สุดราว ๑๐ เมตร แต่สามารถฝากแผ่นทอง ให้บุรุษขึ้นไปปิดทองแทนได้
ในทุกวัน พุทธศาสนิกชนทั้งบุรุษและสตรีจะช่วยกันฝนท่อนไม้ทานาคา เพื่อให้ได้แป้งหอมจากเปลือกไม้ แล้วนำมาใส่ผอบรวมกันไว้มากๆ สำหรับนำไปผสมน้ำประพรมพระพักตร์องค์พระในทุกเช้าของวันรุ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้มีมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานสืบต่อกันมา ถึงปัจจุบัน
นับเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใหญ่ด้วยศรัทธา และสวยงาม น่าชื่นชมยิ่ง
ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ
Comments
Powered by Facebook Comments
No comments yet.
Leave a comment!
You must be logged in to post a comment.
<< “ในสวนฝัน” ผสานใจภักดิ์ แด่ อัคราภิรักษศิลปิน การแสดงทางวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ