ถอดบทเรียน โมเดลการพัฒนาระบบอาหารสุขภาพและเกษตรกรรมยั่งยืนขององค์กร “โครงการฟาร์มสร้างสุข รามาธิบดี”
0 Comments | Posted by admin in การสื่อสาร ภาพลักษณ์องค์กร
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ดำเนินโครงการฟาร์มสร้างสุข รามาธิบดี (Ramathibodi Healthy Farm) เพื่อผลิตอาหารปลอดสารเคมีให้ผู้ป่วย และบุคลากรคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้มีทางเลือกที่ดีกว่าเพื่อสุขภาพของตนเอง ทุกคนได้มีโอกาสรับประทานอาหารปลอดสารพิษจากจุดเล็กๆ ตรงนี้ก็ได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นทั้งต้นแบบและแรงบันดาลใจผลักดันให้เกิดการตื่นตัวในการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมีหรือเกษตรอินทรีย์นั้นแพร่กระจายในวงกว้าง ในบริเวณ ถนนรังสิต-นครนายก (คลอง 13) จังหวัดปทุมธานี
ในการนี้ ผมได้ร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการสื่อสารภายในด้วยเครือข่ายสื่อสารรามาธิบดี จึงได้ร่วมกับผู้บริหารทั้งด้านการแพทย์ ส่วนงานสนับสนุน และบุคลากรคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เข้าเยี่ยมชมและถอดบทเรียนการพัฒนา พร้อมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในกิจกรรม และภารกิจขององค์กร อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการฟาร์มสร้างสุข รามาธิบดี มีชื่ออย่างเป็นทางการในระยะแรกว่า “โครงการพัฒนาต้นแบบระบบอาหารและระบบเกษตรกรรมยั่งยืนระดับองค์กร (Organization-supported Agriculture System)” ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และได้รับความร่วมมือจาก นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรากูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น , พ่อคำเดื่อง ภาษี และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยาวนานในการดำเนินการทำเกษตรกรรมด้วยระบบเกษตรแบบยั่งยืน การร่วมมือดังกล่าวมีความมุ่งหวังจะพัฒนาต้นแบบของระบบอาหารสุขภาพและเกษตรกรรมที่ดำเนินการโดยองค์กรทางสุขภาพและเป็นโมเดลต้นแบบเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรเพื่อสุขภาพ สำหรับบุคคล และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชน ขยายผลผ่านช่องทางต่างๆ และพยายามผลักดันสู่นโยบายสาธารณะที่จำเป็นเพื่อให้เกิดเครือข่ายสังคมสุขภาวะในระดับประเทศต่อไป
นโยบายการดำเนินโครงการสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบอาหารสุขภาพและเกษตรกรรมที่ยั่งยืนอย่างครบวงจร ระหว่างผู้ผลิต ระบบการขนส่ง การตลาด และผู้บริโภค รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของทุกฝ่าย ที่สำคัญต้องการนำผลผลิต พืช ผัก ผลไม้ (ปลอดสารเคมี) ที่ได้ นำกลับมาสู่โรงครัวของโรงพยาบาลรามาธิบดี (ฝ่ายโภชนาการ) เพื่อนำไปปรุงเป็นเมนูอาหารสุขภาพ สำหรับเสิร์ฟให้กับผู้ป่วยตามหอผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาธิบดี
การดำเนินโครงการ มีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะลักษณะสภาพพื้นที่ ที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มในภาคกลาง ขนาด 30 ไร่ ตั้งอยู่ บน ถนนรังสิต-นครนายก (คลอง 13) พื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีลักษณะแคบยาว ด้านหน้า ทิศตะวันออก ติดกับถนนเลียบคลองรพีพัฒน์ กว้าง 38 เมตร ยาวประมาณ 1,225 เมตร ด้านท้ายมีคลองขุดที่เชื่อมต่อกับคลองของเอกชน ทิศเหนือและทิศใต้ติดกับที่ดินเอกชน ที่ปลูกไม้ประดับ สำหรับจำหน่ายและทำนาที่ใช้สารเคมี ซึ่งมีความท้าทายอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ เป้าหมายการทำงานของโครงการฟาร์มสร้างสุข รามาธิบดี ที่ได้วางไว้ในกรอบความสำเร็จที่มุ่งสู่คำว่าสร้างเสริมสุขภาพเป็นสำคัญ ภายใต้วัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาและทดลองโมเดลการดำเนินการต้นแบบระบบอาหารสุขภาพและเกษตรกรรมยั่งยืนระดับองค์กร ที่ครบวงจรในระดับองค์กร ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และ ระบบตลาด / สร้างแหล่งผลิตเกษตรอินทรีย์ และ ไม้ยืนต้น ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของ มหาวิทยาลัยมหิดล ประชาชนทั่วไปในเขต กทม. และ พื้นที่ใกล้เคียง / พัฒนาต้นแบบกิจการเพื่อสังคม ที่รองรับกลุ่มบุคลากรเกษียนขององค์กร ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการสาธารณประโยชน์ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ
ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการจัดการสื่อสาร และที่ปรึกษายุทธศาสตร์สื่อสารองค์กรชั้นนำ
Comments
Powered by Facebook Comments
No comments yet.
Leave a comment!
You must be logged in to post a comment.
<< สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดสัมมนา”การประชาสัมพันธ์ในยุคปฏิรูป”