“การปฏิบัติงาน IO : INFORMATION OPERATIONS ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการสื่อสารและสถานการณ์วิกฤต” การบรรยายพิเศษ ในงานสัมมนาผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
0 Comments | Posted by admin in การจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤติ
ผมได้รับเชิญจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้บรรยาย เรื่อง “การปฏิบัติงาน IO : INFORMATION OPERATIONS ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการสื่อสารและสถานการณ์วิกฤต” ในงานสัมมนาผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผู้เข้าสัมมนาเป็นผู้บังคับการขึ้นไป ประกอบด้วยพลตำรวจตรีถึงพลตำรวจเอกรวม 349 นาย โดยมี ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมในงานสัมมนา ดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีวิทยากรรับเชิญเพื่อบรรยายในหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คุณวิกรม กรมดิษฐ์ และผู้บัญชาการยุทธศาสตร์ตำรวจประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
ในงานดังกล่าว ผมได้กล่าวถึงแนวทางในการปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร หรือการบริหารสารสนเทศ โดยสรุปว่า … ข้อมูลข่าวสารถือว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานด้านความมั่นคงและรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ เนื่องจากทำให้ขีดความสามารถของการทำงานสูงขึ้น จนสามารถปฏิบัติภารกิจ รับมือได้ในสถานการณ์หลายรูปแบบ ทั้งในการจัดการในภาวะปกติ การเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ยามวิกฤติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทั่งการใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นเครื่องมือให้บรรลุเป้าหมายหรือพบกับชัยชนะ
ปัจจัยสำคัญต่อการปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง
- การบริหารฐานข้อมูลองค์กร ข่าวสารให้เป็นระบบ ได้มาตรฐานสากล
- การวางรูปแบบ รับและส่ง ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ ในประเด็นที่มีความรอบด้าน
- ความรวดเร็วในการรับ ส่งต่อ แพร่กระจาย ขยายผลของข้อมูลข่าวสาร
- การสื่อสารแบบ แบบ Real time เชื่อมต่อโลกแบบสมบูรณ์
- ความสามารถในการรับมือกับข่าวสารเชิงลบ สถานการณ์วิกฤติ ฉุกเฉิน ได้ทันท่วงที
- การสื่อสารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ สำหรับควบคุม คลี่คลาย สร้างความเข้าใจในข้อมูลข่าวสาร
- วิเคราะห์ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของประชากร ในแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่
- คำนึงถึงกระแสสังคม สถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา
- ให้ความสำคัญและติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่
แนวทางสำหรับการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในองค์กร
- การกำหนดให้ IO เป็นหนึ่งในขีดความสามารถหลักขององค์กร
- กำหนดเส้นทางสู่การปฏิบัติการข่าวสาร ( INFORMATION OPERATIONS Roadmap ) ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ กำหนดกรอบแนวคิดเชิงกลยุทธ์การปฏิบัติการข่าวสาร / กำหนดผู้ที่รับผิดชอบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม / ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง / วิเคราะห์ ประเมิน ผลโดยละเอียดเพื่อปรับแผนให้เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน
- การสร้างประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ที่รวดเร็ว แม่นยำ
- การเข้าถึงทั้งข้อมูลและความสัมพันธ์กับกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอก
- การวางระบบสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการปฏิบัติการข่าวสาร
- การมีแผนการรับมือกับสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย และสามารถประยุกต์ใช้งานได้จริง
- การใช้รูปแบบ เครื่องมือ ประเด็น การสื่อความที่ผสมผสานทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่เข้าด้วยกัน
- การใช้กลยุทธ์ของ IO เช่น การบูรณาการทรัพยากร การสร้างศักยภาพของเครือข่าย การวางระบบการรับมือสถานการณ์วิกฤต การสร้างสรรค์รูปแบบการสื่อสาร และการบริหารจัดการประเด็น เป็นต้น
ปัญหาพื้นฐานที่พบในการปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร
- การเชื่อมโยงกันแบบหลวมๆระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในระดับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางด้านข้อมูลขององค์กรอย่างเต็มที่
- การจัดงบประมาณเพื่อการดำเนินการด้านข้อมูลข่าวสาร ไม่สามารถสนับสนุนกลยุทธ์ขององค์กร
- ไม่สามารถมองเห็นและนำเสนอให้เห็นประโยชน์ ว่าได้อะไรจากการลงทุนในการบริหารข้อมูลข่าวสาร และไม่สามารถอธิบายได้ว่าการปฏิบัติการข่าวสารมีความสำคัญอย่างไรและมีไว้เพื่ออะไร
- นโยบาย กลยุทธ์ วัฒนธรรมขององค์กรไม่เกื้อหนุนหรือขับเคลื่อนการปฏิบัติการข่าวสาร
- องค์กรมุ่งเน้นแต่พัฒนาด้านเทคโนโลยีมากกว่าจะเข้าถึง กลยุทธ์และการวางระบบปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารโดยตรง
- องค์กรไม่มีแผนรับมือกับการเผชิญต่อสงครามข่าวสาร การเกิดความเข้าใจผิด ความเสี่ยงต่อวิกฤตศรัทธาความเชื่อมั่น ภาวะวิกฤต เมื่อพบกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การถูกโจมตีหรือการเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เหตุการณ์ไม่คาดฝัน รวมถึงไม่มีการซักซ้อมหรือกำหนดผู้ที่มีบทบาทหน้าที่สำหรับรับผิดชอบที่ชัดเจน
- ขาดการจัดการข้อมูลภายในที่มีประสิทธิภาพ และการเข้าไม่ถึงข้อมูลที่แท้จริงขององค์กรภายนอก จึงไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ หรือทำให้เกิดการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด
- การขาดความสัมพันธ์กับองค์กร กลุ่มเป้าหมาย หรือเครือข่าย โดยไม่มีการบริหาร หรือพัฒนาความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง ชัดเจน ปราศจากความจริงใจ มองเฉพาะประโยชน์ที่ได้รับ เป็นต้น
- ช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม อันเกิดจากความล่าช้า ขั้นตอน ผู้ให้ข่าวสาร ภาพลักษณ์ขององค์กรในขณะนั้น รวมถึงสถานการณ์แวดล้อมเปลี่ยนแปลง และระยะเวลาการตัดสินใจทางข้อมูลที่ผิดพลาด
ขณะที่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ข้อมูลข่าวสารมีเป็นจำนวนมาก เพิ่มล้นจากทุกช่องทางทั้งในสื่อเดิมและสื่อที่เกิดขึ้นใหม่ นวัตกรรมทางด้านสารสนเทศและสื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อำนาจด้านสารสนเทศและสื่อเปลี่ยนผ่าน ที่เคยเป็น จากภาครัฐ หรือองค์กรใหญ่ๆ ไปสู่ภาคเอกชน เป็นบุคคล ภาคประชาชน สื่อความ การบริหารระบบสารสนเทศและสามารถเป็นสื่อมีอิทธิพลต่อความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นองค์กร หรือธุรกิจขนาดใดก็ตาม เป็นอีกแนวรบของการแข่งขันก็คือการใช้ข้อมูลข่าวสารที่สามารถสื่อความ สร้างความเชื่อ สื่อสารข้อมูลเรื่องราว สร้างการรับรู้ กระตุ้นประชาชนทั้งในระดับชาติและนานาชาติอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้หากมีการจัดการระบบ ใช้กลยุทธ์ข้อมูลข่าวสารที่สามารถตอบโจทย์ ตามที่ต้องการ
ที่สำคัญก็คือต้องไม่ลืมว่า หัวใจสำคัญของ IO ก็คือ การบริหารจัดการข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันจะทำให้มีความสำเร็จ และสามารถสื่อความกับทุกกลุ่มในเชิงกลยุทธ์ บรรลุเป้าหมาย สัมฤทธิ์ผลตามที่ได้วางไว้ ดังนั้น ผู้ที่มีข้อมูลมากที่สุดคือผู้ที่ได้เปรียบที่สุด และผู้ที่ใช้ข้อมูลเป็นก็คือผู้ที่พบกับความสำเร็จและชัยชนะ ในที่สุด
ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นักวิชาการด้านสื่อสารกลยุทธ์แบบบูรณาการ
Comments
Powered by Facebook Comments
No comments yet.
Leave a comment!
You must be logged in to post a comment.